Frequently Asked Questions

FAQ | คำถามที่พบบ่อย

Frequently Asked Questions

บัญชีและภาษี

1. ควรจดบริษัทจำกัดหรือห้างหุ้นส่วนจำกัด ดีกว่า

การจดบริษัทจำกัด หรือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ขึ้นอยู่กับธุรกิจ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วจะแนะนำให้จดบริษัทจำกัดมากกว่า ด้วยเหตุผลคือ

  1. จดบริษัทจำกัด ให้ความเชื่อถือมากกว่า เพราะคนส่วนใหญ่มักรู้สึกว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดมักจะเป็นการดำเนินธุรกิจแบบครอบครัว และจะรู้สึกว่าบริษัทจำกัดมีความมั่นคง ความเชื่อถือมากกว่า ดังนั้นหากธุรกิจต้องติดต่อ เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก และต้องการเพิ่มความน่าเชื่อ เป็นมืออาชีพ การจดบริษัทจำกัดจึงเหมาะสมกับวัตถุประสงค์มากกว่า
  2. เมื่อดำเนินธุรกิจแล้วเกิดผลขาดทุน ความรับผิดชอบในผลขาดทุนของบริษัทจำกัด ผู้ถือหุ้นจะรับผิดชอบตามมูลค่าของจำนวนหุ้นที่ถือเท่านั้น และหากเกิดการฟ้องร้องภายหลังทรัพย์สินส่วนตัวของเราก็จะไม่ถูกดึงมาเกี่ยวข้องด้วย แต่หากจดห้างหุ้นส่วนจำกัด จะพิจารณาความรับผิดชอบตามประเภทการลงทุน คือ หุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดชอบ (หุ้นส่วนผู้จัดการ) จะต้องรับผิดชอบนอกเหนือไปจากเงินที่ลงทุนไปด้วย และหุ้นส่วนจำกัดความรับผิดชอบ (หุ้นส่วนทั่วไป) จะรับผิดชอบเฉพาะเงินที่ลงทุนไปเท่านั้น

2. ภงด.3/ ภงด.53 ต้องยื่นวันไหน

ทั้งภ.ง.ด.3 และภ.ง.ด.53 จะนำส่งต่อเมื่อระหว่างเดือนมีการหัก ณ ที่จ่าย ภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป ยื่นผ่านเน็ตวันที่ 15 ของเดือนถัดไปถ้าเดือนนี้ไม่หักบุคคลใด หรือบริษัทไหนเลย ก็ไม่ต้องส่ง หรือถ้าเดือนนี้มีแต่รายการหัก ณ ที่จ่าย เฉพาะบุคคล ก็ส่งเฉพาะ ภ.ง.ด.3 

    3. บริษัท ไม่ได้หัก ณ ที่จ่าย และนำส่งภาษี จะมีความรับผิดอย่างไรบ้าง

    ความรับผิดคือ 1.รับผิดในจำนวนภาษีที่ต้องหัก นำส่งพร้อมเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน  โดยคำนวณจากจำนวนภาษีที่ต้องนำส่ง และคูณอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน คูณจำนวนเดือน
    ที่ล่วงเลยมาถึงปัจจุบัน

    4. ต้องยื่นเอกสาร ภ.พ.30 เมื่อใด

    หากบริษัทหรือกิจการของคุณมีรายได้มากกว่า 1.8 ล้านบาท/ปี ก็จะต้องยื่นขอ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่กรมสรรพากรในพื้นที่ และหลังจากนั้นจะต้องยื่นแบบ ภ.พ.30 ทุกเดือน โดยต้องยื่นก่อนวันที่ 15 ของเดือนถัดไป หรือยื่นผ่านระบบออนไลน์ ภายในวันที่ 23 ของเดือนถัดไป

    5. รายได้เท่าไร ถึงต้องจด VAT

    รายได้ของกิจการเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี หรือ เฉลี่ยออกมาแต่ละเดือนก็จะอยู่ที่ 150,000 บาทต่อเดือน ซึ่งรายได้นี้มาจากยอดขายที่เกิดขึ้นจริงที่ไม่ใช่กำไรหลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว ซึ่งพอรายได้เกินแล้วจะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วันและยื่นเอกสาร ภ.พ. 30 ด้วย

    6. ถ้ายอดขายเกิน 1.8 ล้านแค่ 1 ปี ต้องจดVAT ไหมคะ

    หากกรมสรรพากรตรวจพบว่ากิจการมีรายได้จากการประกอบกิจการเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี แต่ไม่ได้ดำเนินการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม กิจการต้องเสียทั้งค่าปรับในการยื่นคำขอจดทะเบียนฯ (3,000 บาท) + เสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากยอดขาย 7% + เงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือน + เบี้ยปรับตามระยะเวลาที่เกินกำหนด
    สรุปง่ายๆคือต้องเสียภาษีย้อนหลังพร้อมดอกเบี้ย

    7. กรณีมียื่นเพิ่มเติม ภ.พ.30 วิธีคำนวณค่าเบี้ยปรับเงินเพิ่ม ภพ.30 คิดอย่างไร

    • เงินเพิ่ม คิดจาก ยอดภาษีที่ต้องชำระ x 1.5% x ระยะเวลา (เดือน)
    •  ค่าปรับ คิดจาก ยอดภาษีที่ต้องชำระ x (อัตรา %) x 2 เท่า
      โดย 1-15 วัน = 2%
      16-30 วัน = 5%
      31-60 วัน = 10%
      61 วันขึ้นไป = 20%

    8. เอกสารที่ไม่สมบูรณ์ เช่น ไม่มีชื่อผู้ขาย จะสามารถนำมาเป็นค่าใช้จ่าย ในกิจการได้หรือไม่ ถ้าจะนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในกิจการต้องทำอย่างไร

    เอกสารไม่สมบูรณ์ ไม่สามารถนำมาเป็นค่าใช้จ่ายได้ หากต้องการนำมาใช้เป็น ค่าใช้จ่ายต้องแนบสำเนาบัตรประชาชนของผู้ขายและหลักฐานการชำระเงิน

    9. ใบกำกับภาษีซื้อแบบไหนที่สามารถนำไปใช้เคลม VAT ได้

    ใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบและสามารถนำไปเคลม vat ซื้อได้ ประกอบด้วย

    1. เห็นคำว่า “ใบกำกับภาษี” ชัดเจน
    2. มีเลขประจำตัวผู้เสียภาษี รวมถึงชื่อและที่อยู่ของผู้ขาย
    3. ชื่อและที่อยู่ของผู้ซื้อ
    4. เลขที่ใบกำกับภาษี
    5. ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และจำนวนเงิน
    6. แยกแสดงจำนวน VAT แยกให้เห็นชัดเจน
    7. วัน เดือน ปี ที่ออก
    8. ข้อความอื่นที่อธิบดีกำหนด บังคับใช้กับผู้ประกอบการ
      1. ระบุ “สำนักงานใหญ่”หรือ“สาขาที่…..” ของผู้ขาย
      2. เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ซื้อ (โดยเฉพาะผู้ซื้อที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม)
      3. ระบุ “สำนักงานใหญ่”หรือ“สาขาที่…” ของผู้ซื้อ

    10. ใบกำกับภาษีซื้อสามารถใช้ย้อนหลังได้กี่เดือน

    ภาษีซื้อสามารถนำมาลดหย่อนภาษีขายย้อนหลังได้ 6 เดือน โดยเริ่มนับเดือนถัดไปเป็นเดือนที่แรก และหากภาษีซื้อนั้นเลยกำหนดเวลาแม้จะไม่สามารถนำมาใช้หักภาษีขายได้ แต่หากยังไม่สิ้นรอบบัญชีภาษีซื้อนั้นสามารถนำมาบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายแทนได้

    11. รถยนต์ไม่ใช่ชื่อของกิจการ สามารถบันทึกค่าน้ำมันเป็นค่าใช้จ่ายของกิจการได้หรือไม่

    นำมาลงเป็นรายจ่ายได้ หากยานพาหนะไม่ได้เป็นของกิจการ ควรทำสัญญาเช่าให้ถูกต้อง และหัก ณ ที่จ่ายเมื่อมีการจ่ายชำระค่าเช่า และพิสูจน์ได้ว่าเป็นการนำรถยนต์มาใช้ในการปฏิบัติงานเพื่อกิจการจริง ค่าน้ำมันนั้นจะสามารถลงเป็น ค่าใช้จ่ายได้และสามารถเคลมภาษีซื้อได้ โดยใบกำกับภาษีของบิลค่าน้ำมันต้องระบุเลขทะเบียนรถที่เติมน้ำมันให้ชัดเจน

    12. หากค่าภาษีเดือนนี้สูง ไม่สามารถจ่ายทั้งจำนวนได้ สามารถแบ่งชำระได้หรือไม่

    แบ่งได้แต่จะมีค่าปรับจากกรมสรรพากร

    13. อากรแสตมป์ หรือ ตราสารอิเล็กทรอนิกส์ คืออะไร ติดอย่างไร ผู้ใดมีหน้าที่ติด

    ตราสารอิเล็กทรอนิกส์ คือ อากรแสตมป์ที่จัดทำขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ผู้ให้บริการ มีหน้าที่จัดทำและยื่นขอเสียอากรเป็นตัวเงินผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต สำหรับประเภทตราสารอิเล็กทรอนิกส์ที่ต้องชำระอากรเป็นตัวเงิน มี 5 ตราสารประกอบด้วย

    1. การจ้างทำของ
    2. กู้ยืมเงินหรือการตกลงให้เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคาร
    3. ใบมอบอำนาจ
    4. ใบมอบฉันทะสำหรับให้ลงมติในที่ประชุมของบริษัท
    5. การค้ำประกัน

    14. บิลค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ที่ไม่ใช่ชื่อของกิจการ สามารถนำมาบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้หรือไม่

    ได้ หากกิจการมีสัญญาเช่าสถานที่นั้นอย่างถูกต้อง พร้อมทั้งระบุในสัญญาว่าให้ผู้เช่า เป็นผู้ชำระค่าไฟฟ้า และน้ำประปา

    15. กรณีที่กิจการมีค่าใช้จ่ายที่ไม่มีบิล จะต้องทำอย่างไรจึงจะสามารถนำมาบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้

    กิจการจะต้องทำใบสำคัญจ่าย และแนบหลักฐานการจ่ายเงิน พร้อมด้วยสำเนาบัตรประชาชนของผู้รับเงิน

    วางระบบและโปรแกรมบัญชี

    1. เริ่มต้นการใช้ระบบใหม่ ข้อมูลที่ต้องเตรียมมีอะไรบ้าง

    รายละเอียดสินค้า , ลูกหนี้ , เจ้าหนี้
    รายละเอียดประกอบลูกหนี้ , เจ้าหนี้ไปด้วย รหัส , ชื่อลูกหนี้-เจ้าหนี้ , ที่อยู่ , หมายเลขผู้เสียภาษีรายละเอียดสินค้าประกอบไปด้วย รหัส, ชื่อสินค้า , หน่วยนับ, ที่เก็บ,คลังสินค้า ,ราคาขาย(ถ้ามี)

      2. เข้าโปรแกรม SML ไม่ได้ หลังจาก Windows update

      Services SQL server หยุดทำงาน เข้าไป Start Services SQL Srever ใหม่

      3. โปรแกรมสำเร็จรูปที่ใช้อยู่ สามารถใช้ร่วมกับแบบฟอร์มสำเร็จรูปเดิมที่กิจการมีอยู่แล้ว ได้หรือไม่

      สามารถใช้ฟอร์มสำเร็จที่ลูกค้ามีอยู่แล้วได้ หรือ ลูกค้าจะใช้ทั้งฟอร์มสำเร็จตามแบบฟอร์มที่มีอยู่ และ แบบฟอร์มที่ติดมากับระบบได้

      4. จำนวนสินค้าคงเหลือที่โชว์ในช่องคงเหลือ ไม่ตรงกับรายงานสินค้าคงเหลือ ในโปรแกรม BC Account

      เข้าที่เมนูสินค้าคงคลัง แล้วเข้าที่เมนูคำนวณยอดคงเหลือรวมของสินค้าใหม่

      5. จำนวนสินค้าคงเหลือที่โชว์ในช่องคงเหลือ ไม่ตรงกับรายงานสินค้าคงเหลือ ในโปรแกรม SML

      เข้าที่เมนูสินค้า แล้วเข้าที่เมนูคำนวณยอดสต๊อกใหม่

      6. ในโปรแกรม BC Account ขึ้นคำว่า วันที่ปัจจุบัน หรือวันที่เอกสารกำหนด ได้ถูกปิดงวดไปแล้ว หรือยังไม่ได้กำหนดงวดบัญชี กรุณาตรวจสอบ

      ให้เข้าไปที่เมนูบัญชี แล้วไปที่ กำหนดงวดบัญชี จากนั้นให้ทำการกำหนดงวดบัญชีเพิ่มเข้าไปในเดือนนั้น

      7. ในโปรแกรม SML ขึ้นคำว่า วันที่ปัจจุบัน หรือวันที่เอกสารกำหนด ได้ถูกปิดงวดไปแล้ว หรือยังไม่ได้กำหนดงวดบัญชี กรุณาตรวจสอบ

      ให้เข้าไปที่เมนูเริ่มต้น แล้วไปที่ระบบบัญชี แล้วไปที่กำหนดงวดบัญชี จากนั้นให้ทำการกำหนดงวดบัญชีเพิ่มเข้าไปในเดือนนั้น

      8. Error Bcwinservice ของโปรแกรม BC Account ขึ้นมา สามารถทำงานได้หรือไม่ แล้วต้องแก้ไขอย่างไร

      สามารถตอบ yes แล้ว เข้าไปทำงานได้ปกติ แต่ ยอดคำนวน ต่างๆ จะไม่ทำงาน เข้าไปเคลีย Process ค้างใน ระบบ

      9. ผ่านรายการแล้วโอนข้อมูลจากฐานหนึ่งไปยังอีกฐานข้อมูลหนึ่ง ทำให้ติดสถานะผ่านรายการแล้วไม่สามารถแก้ไขรายการได้ ทำอย่างไร

      ให้เข้าไปที่จัดการระบบ ขอดูข้อมูล แล้วใช้คำสั่ง !!update bcapinvoice set ispostgl=’0′ where docno =’เลขที่เอกสาร’ เพื่อล้างสถานะผ่านรายการแล้ว

      10. โปรแกรม BC Account สามารถทำเป็นระบบออนไลน์ได้หรือไม่

      ไม่ได้ แต่จะมีโปรแกรมอีกตัวหนึ่งที่ใช้ BC Account เป็นต้นแบบในการเขียนขึ้นมา ใช้ชื่อว่า SML สามารถทำเป็นระบบออนไลน์ได้

      11. โปรแกรม SML สามารถเขียน API หรือ เขียนเชื่อมเพื่อดึงข้อมูลออกมาได้ไหม

      สามารถทำได้ในส่วนของการเขียนเชื่อม และเขียนเสริมพัฒนาโปรแกรมได้ โดยเราจะเปิด API ให้เชื่อมข้อมูลได้

      12. Windows update สั่งปริ้นไม่ได้

      เช็ค Error ของ windows แล้วแก้ไขโดยการงใหม่หรือแก้ config

      13. โปรแกรมค้างบ่อย เกิดจากอะไร

      ต้องเช็คเครื่องก่อนว่ามี services ไหนทำงานหนักอยู่บ้าง ต่อไปเป็นการเช็คฐานข้อมูลมีปริมาณข้อมูลที่เยอะไปหรือไม่ หรือฐานข้อมูลมีปัญหา เพื่อทำการแก้ไขต่อไป

        สวัสดิการ

        1. หากปัจจุบันทำงานเป็นลูกจ้างอยู่และต่อมาเปิดกิจการในรูปแบบของบริษัทและ มีสถานะเป็นกรรมการผู้ถือหุ้น ยังจะสามารถใช้สิทธิประกันสังคมได้หรือไม่

        หากปัจจุบันเป็นลูกจ้างอยู่และต่อมามีการเปิดบริษัทและมีสถานะเป็นกรรมการผู้ถือหุ้น
        ถ้าเป็นลูกจ้างของบริษัทเดิมอยู่ก็ยังคงมีสถานะเป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 สามารถใช้
        สิทธิประกันสังคมได้

        2. พนักงานมาทำงานสายบริษัทสามารถหักเงินเดือนหรือไม่

        บริษัทไม่สามารถลงโทษพนักงานที่มาทำงานสายโดยการหักเงินเดือนได้ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา 76 ห้ามมิให้นายจ้างหักค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด โดยระบุว่า การที่นายจ้างหักเงินค่าจ้างเพราะมาสายนั้นเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้เพราะผิดกฎหมายแรงงาน เว้นแต่เป็นการหักเพื่อ

        1. ชำระภาษีเงินได้ตามจำนวนที่ลูกจ้างต้องจ่ายหรือชำระเงินอื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้
        2. ชำระค่าบำรุงสหภาพแรงงานตามข้อบังคับของสหภาพแรงงาน 
        3. ชำระหนี้สินสหกรณ์ออมทรัพย์ หรือสหกรณ์อื่นที่มีลักษณะเดียวกันกับสหกรณ์ออมทรัพย์หรือหนี้ที่เป็นไปเพื่อสวัสดิการที่เป็นประโยชน์แก่ลูกจ้างฝ่ายเดียวโดยได้รับความยินยอมล่วงหน้าจากลูกจ้าง
        4. เป็นเงินประกันตามมาตรา 10 หรือชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายจ้างซึ่งลูกจ้างได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โดยได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง
        5. เป็นเงินสะสมตามข้อตกลงเกี่ยวกับกองทุนเงินสะสม

        3. สัญญาจ้างงาน หากลูกจ้างทำงานติดต่อกันเป็นเวลา 120 วันขึ้นไป กรณีที่ไม่ผ่านการทดลองงาน หากนายจ้างต้องการเลิกจ้าง จะต้องจ่ายค่าชดเชย และค่าจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือไม่

        โดยปกตินายจ้างที่เลิกจ้างลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 120 วันขึ้นไปต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง แต่หากนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างในกรณีหนึ่งกรณีใดตามมาตรา 119 ก็ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน มาตรา 119 กำหนดเหตุที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยไว้ดังนี้

        1. ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
        2. จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
        3. ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
        4. ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม และนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว เว้นแต่กรณีที่ร้ายแรงนายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือนหนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกินหนึ่งปีนับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด
        5. ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตามโดยไม่มีเหตุอันสมควร
        6. ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก

        4. ผู้ประกันตนเปลี่ยนสถานพยาบาลได้อย่างไร

        เปลี่ยนได้ปีละ 1 ครั้ง ระหว่างเดือนมกราคม – มีนาคม ของทุกปี
        เปลี่ยนระหว่างปีได้ กรณี ย้ายที่ทำงาน หรือ ย้ายที่พักอาศัยข้ามจังหวัด

        5. ฝ่ายหญิงใช้สิทธิบัตรทองในการคลอดบุตร สามารถเบิกค่า คลอดบุตรโดยใช้สิทธิฝ่ายชายที่เป็นผู้ประกันตนได้หรือไม่

        ได้ เมื่อผู้ประกันตนฝ่ายชาย มีการส่งเงินสมทบครบตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการเกิดสิทธิกรณีคลอดบุตร

        6. ออกจากงานแล้ว ไม่ได้รับเงินสงเคราะห์บุตร จะต้องทำอย่างไร

        เมื่อออกจากงาน เงินสงเคราะห์บุตรจะหยุดจ่าย แต่เมื่อกลับเข้าเป็นผู้ประกันตนต่อใน ภายหลังทั้งม.33 หรือ ม.39 เงินสงเคราะห์บุตรจะจ่ายให้ตามหลักเกณฑ์เงื่อนไข

        7. นักศึกษาฝึกงานต้องแจ้งขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนกับสำนักงานประกันสังคมหรือไม่

        นายจ้างที่รับนักศึกษาฝึกงานเข้าทำงาน หากเป็นนักศึกษาที่มีหนังสือจากสถานศึกษา ที่ให้เข้ารับการฝึกงานตามหลักสูตรการเรียนการสอนนายจ้างไม่ต้องขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน ให้กับนักศึกษาเหล่านั้น เนื่องจากไม่มีสถานะความเป็นลูกจ้างของกิจการ

        8. พนักงานบริษัท โดนหักภาษี ณ ที่จ่ายทุกเดือนจากเงินเดือน ต้องยื่นภาษีอีกหรือไม่

        หลายคนมักเข้าใจผิดว่า เมื่อรายได้ของเราถูกหักภาษีไปแล้วไม่ต้องทำการยื่นภาษีอีก แต่ความจริงคือรายได้ที่ถูกหักภาษีไปนั้น เป็นเพียงการจ่ายภาษีล่วงหน้าส่วนหนึ่งเท่านั้น เรายังต้องมีหน้าที่ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีเหมือนเดิม และการถูกหักภาษี ก็ไม่ได้เป็นการการันตีว่าจะได้รับคืนภาษี เพราะทั้งปี เราอาจมีรายได้อื่นที่ต้องนำมา คำนวณรวมกันอาจทำให้เสียภาษีเพิ่ม หรือ ได้รับคืนภาษี แล้วแต่กรณี

        9. ค่าจ้างแรงงานต่างด้าว สามารถนำมาบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายได้อย่างไร

        การจ่ายค่าจ้างคนต่างด้าว แรงงานต่างด้าวรายนั้นควรขึ้นทะเบียนนายจ้างที่กรมแรงงาน และนำเอกสารของลูกจ้าง มาขอเลขประจำตัวผู้เสียภาษี เพื่อใช้ยื่นหัก ณ ที่จ่าย รายจ่ายที่เป็นค่าจ้างหรือเงินเดือน โดยควรจ่ายค่าจ้างหรือเงินเดือนนั้นผ่านธนาคาร และทำใบสำคัญจ่ายให้แก่ลูกจ้างคนต่างด้าวเซ็นชื่อผู้รับเงินเป็น หากมีเอกสารหลักฐานสมบูรณ์ตามนี้ ก็สามารถนำมาบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายของกิจการได้

        10. การจ้างพนักงานที่ยื่นประกันสังคมเอง หากต้องการนำมาบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายกิจการ ได้หรือไม่ และต้องทำอย่างไร

        สามารถเป็นค่าใช้จ่ายบริษัทได้ โดยการทำใบสำคัญจ่าย แนบสำเนาบัตรประชาชน และสลิปโอนเงิน และนำเงินเดือนไปยื่น ภงด.1ก

        11. หากกิจการมีค่าใช้จ่ายในการซื้อชุดตรวจ ATK ควรบันทึกบัญชีอย่างไร

        กิจการสามารถลงบัญชีค่าใช้จ่ายนั้นเป็นค่าสวัสติการพนักงาน และสามารถนำค่าใช้จ่ายนั้นมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ 1.5 เท่า ภายใต้เงื่อนไขว่าค่าใช้จ่ายนั้นต้องเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 14 ก.ย. 2564 – 31 มี.ค. 2565

        Sea & Hill Co.,Ltd.

        ริการจัดทำบัญชีภาษีครบวงจร ให้บริการด้วยเทคโนโลยีการจัดทำบัญชีออนไลน์ที่ให้ผู้ประกอบการเห็นสุขภาพธุรกิจ และเห็นงบการเงินของกิจการได้แบบ Realtime